วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

โครงการ ยิ้มสดใส เด็กไทยฟันดี

ชื่อโครงการ นส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้านทันตกรรมสำหรับเด็ก ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2548 “ยิ้มสดใส เด็กไทยฟันดี”
หัวหน้าโครงการ นายสมยศ เจริญศักดิ์ อธิบดีกรมอนามัย
รองหัวหน้าโครงการ นายประเสริฐ หลุยเจริญ รองอธิบดีกรมอนามัย
ผู้จัดการโครงการ นายสุธา เจียรมณีโชติชัย ผู้อำนวยการกองทันตสาธารณสุข
ความสำคัญของปัญหา
ฟันและอวัยวะในช่องปากเป็นด่านแรกของระบบย่อยอาหาร และมีความสำคัญ สำหรับการติดต่อสื่อสารของผู้คนในสังคม แต่จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชน และสภาพสังคมที่เร่งรีบ ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนเปลี่ยนไป ในขณะที่ระบบบริการสุขภาพ และระบบการพัฒนาคนยังไม่สามารถปรับตัว รองรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เด็กไทยในปัจจุบันจึงประสบปัญหาทันตสุขภาพดังต่อไปนี้
  • ฟันผุเพิ่มขึ้น จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติทุก 5 ปี พบว่า เด็กอายุ 12 ปี (ซึ่งเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน ในกลุ่มเด็กประถมศึกษา) มีแนวโน้มการเป็นโรคฟันผุเพิ่มมากขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้เป็นโรคฟันผุร้อยละ 49.2, 53.9 และ 57.3 ในปี 2532, 2537 และ 2544 ตามลำดับ มีค่าเฉลี่ยฟันผุอุดถอน 1.5, 1.55 และ 1.64 ซี่ต่อคนในช่วงเวลาเดียวกัน
  • แปรงฟันที่โรงเรียนลดลง จากร้อยละ 83.7 ในปี 2536 เป็นร้อยละ 26.3 ในปี 2544 และแปรงฟันสม่ำเสมอลดลง จากร้อยละ 70.6 ในปี 2536 เป็นร้อยละ 56.1 ในปี 2544
  • กินขนมมากขึ้น แต่กินอาหารมีเส้นใยลดลง จากการศึกษาพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็ก 0-12 ปี ที่มีผลต่อสุขภาพช่องปาก ปี 2547 พบว่า เด็กกินขนมวันละ 3-5 ครั้ง ใช้เงินค่าขนมวันละ 13 บาท
  • ได้รับบริการทันตกรรมลดลง จากการประเมินผลการจัดบริการสุขภาพช่องปากตามชุดสิทธิประโยชน์ทันตกรรมภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2547 พบว่า เด็กได้รับบริการทันตกรรมลดลงจากร้อยละ 20.3 ในปี 2537 (ระบบรายงานของกระทรวงสาธารณสุข) เป็นร้อยละ 16.5 ในปี 2546 (การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ)
  • ความครอบคลุมบริการเคลือบหลุมร่องฟันมีอัตราต่ำมาก จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ ปี 2544 พบว่า เด็กอายุ 12 ปี ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่ง เพียงร้อยละ 5.3
จากข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคฟันผุ ปี 2544 พบว่า เด็กมีอัตราการผุของฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่ง (หรือถ้านับตาม location ในปากคือฟันซี่ที่หก) สูงกว่าฟันซี่อื่นๆในช่องปากคือ ร้อยละ 51.4 ของเด็กอายุ 12 ปี โดยมีการผุของฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งของขากรรไกรล่าง ในสัดส่วนที่สูงอย่างชัดเจน คือ ร้อยละ 36.4 รองลงมาเป็นการผุในขากรรไกรบน ร้อยละ 17.5 ซึ่งเมื่อนับรวมกับฟันที่เริ่มผุ หรือเสี่ยงต่อโรคฟันผุหากไม่ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันหรือการป้องกันแบบอื่น จะเป็นเด็กที่จำเป็นต้องได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่ง ถึงร้อยละ 55.2 ในขากรรไกรล่าง และร้อยละ 41.0 ในขากรรไกรบน ดังนั้น การป้องกันการเกิดโรคฟันผุในฟันซี่นี้จะสามารถลดการเกิดโรคฟันผุในภาพรวมได้อย่างมีนัยสำคัญ อนึ่ง ฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อลักษณะการสบฟันซึ่งมีผลต่อเนื่อง ต่อการใช้งานของชุดฟันแท้ตลอดช่วงชีวิต การป้องกันการเกิดฟันผุในฟันซี่นี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตด้วย วิธีการป้องกันการเกิดโรคฟันผุในฟันซี่นี้ ได้แก่ การทำการเคลือบหลุมร่องฟัน (Sealant) ในช่วงวัยที่ฟันเริ่มขึ้นมาในช่องปาก (อายุ 6 ปี) เพื่อรอเวลาให้ฟันขึ้นเต็มที่ในช่องปากซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2 ปีต่อมา
พร้อมกันนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในการป้องกันฟันผุ ฟันที่ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันแล้ว ยังจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้รับการดูแลทำความสะอาดและได้รับฟลูออไรด์อย่างสม่ำเสมอ มาตรการที่เหมาะสมในที่นี้คือ การแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ทุกวัน ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างสุขนิสัย ที่ต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานพอสมควร จึงจำเป็นต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่เด็กวัยก่อนเรียน ซึ่งเป็นช่วงที่ฟันแท้กำลังจะขึ้น ไปจนถึงเด็กวัยประถมศึกษาซึ่งฟันแท้กำลังทยอยโผล่ขึ้นมาในช่องปาก
โครงการนี้มีจุดมุ่งหมาย ที่จะสนับสนุนให้เด็กวัยก่อนเรียนและเด็กวัยเรียนทุกคน ในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาได้รับการดูแลทันตสุขภาพอย่างเหมาะสม โดยมุ่งเน้นบริการส่งเสริมป้องกันทันตสุขภาพ ที่มีคุณภาพ และครอบคลุม ร่วมกับการพัฒนาศักยภาพของเด็ก ในการดูแลรักษาอนามัยในช่องปากของตนเอง โดยคาดว่า จะสามารถลดอัตราการเกิดโรคฟันผุในฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งลงได้ร้อยละ 50 ในเด็กกลุ่มอายุ 12 ปี นอกจากนี้ ยังเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดระบบบริการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคด้านทันตกรรมสำหรับเด็กทั่วประเทศ ด้วยวิธีบริหารจัดการแบบ Vertical program ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยครอบคลุมและเชื่อมโยงทุกมิติ ทั้งระบบการเงินการคลัง ระบบสารสนเทศ ระบบบริหารจัดการ ระบบพัฒนาคน และระบบสนับสนุน ภายใต้การประเมินผลโครงการอย่างเป็นระบบ
การดำเนินโครงการนี้จึงมุ่งที่จะจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการจัดระบบบริการส่งเสริมป้องกันทันตสุขภาพและการบริหารจัดการที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทที่แตกต่างกันของพื้นที่ และสามารถตอบสนองความจำเป็นของเด็กในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
  1. ป้องกันฟันแท้ไม่ให้ผุ โดยเน้นฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่ง
  2. สร้างสุขนิสัยและฝึกทักษะการดูแลความสะอาดช่องปากให้แก่เด็ก
  3. สร้างความมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมป้องกันทันตสุขภาพของเด็ก
กลุ่มเป้าหมาย
  1. เด็กก่อนประถมและเด็กประถมศึกษาในสถานศึกษาระดับประถมศึกษา 7.2 ล้านคน
  2. สถานศึกษาระดับประถมศึกษา 32,000 แห่ง
เป้าหมาย
  1. ร้อยละ 50 ของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้รับบริการเคลือบหลุมร่องฟัน
  2. ร้อยละ 100 ของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่1 และ 3 ได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากและลงบันทึกในฐานข้อมูล
  3. ร้อยละ 100 ของสถานศึกษาระดับประถมศึกษาจัดกิจกรรมแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์หลังอาหารกลางวันทุกวัน โดยครอบคลุมทั้งเด็กก่อนประถมและเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6
เทคโนโลยีทางทันตกรรมที่เลือกใช้ในโครงการ
  1. การเคลือบหลุมร่องฟัน (Sealant) เป็นเทคโนโลยีทันตกรรมป้องกันที่ได้ผล ซึ่งในโครงการนี้จะให้ความสำคัญกับการเคลือบปิดหลุมร่องฟัน ในฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งล่างเป็นอันดับหนึ่ง หากจำเป็นและมีทรัพยากรเพียงพอสามารถจะพิจารณาจัดบริการเคลือบหลุมร่องฟัน ในฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งบนเป็นอันดับต่อไป
  2. การแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เป็นเทคโนโลยีส่งเสริมทันตสุขภาพ ร่วมกับทันตกรรมป้องกัน เพราะนอกจากจะได้ผลในการทำความสะอาดช่องปากด้วยตนเองแล้ว ยังเป็นวิธีการให้ฟลูออไรด์เฉพาะที่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งให้ผลในการป้องกันฟันผุด้วย เป็นมาตรการที่สำคัญ เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุของการเคลือบหลุมร่องฟัน อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ครู เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และองค์กรท้องถิ่นสามารถรับผิดชอบ เป็นตัวหลักในการดำเนินการได้ ทั้งนี้ แม้ว่าการให้ฟลูออไรด์ โดยทันตบุคลากรยังมีประสิทธิผลและมีความจำเป็น แต่เนื่องจากปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดเรื่องกำลังคนในการให้บริการ มาตรการสำคัญในการให้ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุแก่เด็ก จึงมุ่งไปที่การแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นหลัก
  3. การตรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อคัดกรอง จัดทำบันทึกทันตสุขภาพประจำตัวเด็ก สำหรับการจัดบริการทันตกรรมตามระบบปกติ โดยมุ่งเน้นการเก็บรักษาฟันแท้ ตลอดจนประเมินผลกระทบของโครงการ ดังนั้น ในการดำเนินโครงการปีแรกจึงให้บริการตรวจสุขภาพเด็กนักเรียนใน 2 ชั้นปีการศึกษา ดังนี้
    • ชั้นประถมศึกษาปีที่1 Screening เพื่อคัดกรองเด็กที่มีความจำเป็นต้องได้รับบริการเคลือบหลุมร่องฟัน และ Full Mouth Examination เพื่อจัดทำบันทึกทันตสุขภาพประจำตัวเด็ก
    • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 Full Mouth Examination เพื่อจัดทำบันทึกทันตสุขภาพประจำตัวเด็ก และเป็น baseline สำหรับประเมินผลกระทบของโครงการ
กิจกรรมสำคัญ
  1. การตรวจคัดกรอง และตรวจสุขภาพช่องปากพร้อมลงบันทึกในฐานข้อมูลของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 3 โดยทันตบุคลากร พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งนี้ ให้สอดคล้องกับศักยภาพและสภาพพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ในกรณีที่ผู้ตรวจไม่ใช่ทันตบุคลากรจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพ
  2. การจัดบริการเคลือบหลุมร่องฟันให้แก่เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยทันตบุคลากร ทั้งที่จัดในสถานพยาบาลและนอกสถานพยาบาล โดยใช้วัสดุและเครื่องมือที่มีมาตรฐานสามารถให้บริการเคลือบหลุมร่องฟันที่มีคุณภาพ โดยจังหวัดจัดระบบตรวจสอบคุณภาพบริการเคลือบหลุมร่องฟันที่เด็กได้รับอย่างสม่ำเสมอ
  3. การจัดกิจกรรมแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในสถานศึกษาหลังอาหารกลางวันทุกวัน โดยครอบคลุมทั้งเด็กก่อนประถมและเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งสถานศึกษาจะมีบทบาทหลัก ในการจัดสถานที่และน้ำใช้ในการแปรงฟัน จัดหาและจัดเก็บอุปกรณ์แปรงฟัน จัดกิจกรรมแปรงฟันอย่างเป็นระบบ และจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพการแปรงฟัน เช่น การตรวจความสะอาดช่องปากอย่างสม่ำเสมอ การฝึกทักษะการแปรงฟัน การจัดการเรียนรู้เรื่องการดูแลทันตสุขภาพ การให้ทันตสุขศึกษารายกลุ่มเพื่อกระตุ้นความสนใจและสร้างเจตคติที่ดีให้แก่เด็ก ฯลฯ ภายใต้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ บริหารจัดการ และทรัพยากรที่จำเป็นจากสถานบริการสุขภาพ
  4. การพัฒนาทีมงาน เพื่อให้มีความรู้ เจตคติ และทักษะในการจัดกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียนร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  5. การพัฒนาระบบข้อมูลทันตสุขภาพเด็กในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาที่เชื่อมต่อกันในทุกระดับ เพื่อรองรับระบบ claim เงินตามผลงานการให้บริการและระบบ verify ข้อมูล รวมทั้งการประเมินผลกระทบของโครงการที่มีต่อสภาวะโรคฟันผุของเด็ก และจัดทำบันทึกทันตสุขภาพประจำตัวเด็กสำหรับการจัดบริการทันตกรรมตามระบบปกติ
  6. การบริหารจัดการ เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์
  7. กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
ขั้นตอนการดำเนินงาน
  1. ขั้นเตรียมการ
    • จัดทำระบบข้อมูล ระบบรายงาน ระบบ verify ข้อมูล และระบบจ่ายเงินตามผลงาน
    • จัดทำแนวทางการอบรมผู้เกี่ยวข้อง และจัดเตรียมคู่มือ สื่อ และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการ
  2. ขั้นถ่ายทอดโครงการ
    • ประชุมผู้บริหารเพื่อชี้แจงโครงการ (ร่วมกับการชี้แจงโครงการอื่นของ สปสช.)
    • จัดทำสัญญา sub-contract ระหว่างกรมอนามัยและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
    • จัดประชุมผู้รับผิดชอบโครงการและผู้แทนทันตบุคลากรในจังหวัด
    • จัดส่งสิ่งสนับสนุน
  3. ขั้นดำเนินการ
    • ตรวจ คัดกรอง ให้บริการเคลือบหลุมร่องฟัน
    • จัดประชุม/อบรมผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ และดำเนินกิจกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวันในโรงเรียน
    • รายงานผลการปฏิบัติงาน
    • ตัดโอนเงินค่าดำเนินการ และค่าบริการ
  4. ขั้นติดตามประเมินผล
    • ติดตามผลการดำเนินงานของ CUP โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
    • ติดตามผลการดำเนินงานของจังหวัดโดยศูนย์อนามัย
    • ประเมินระบบบริหารจัดการ 75 จังหวัดโดยกองทันตสาธารณสุข
    • ออกเยี่ยมพื้นที่และประชุมผู้เกี่ยวข้องในจังหวัด 12 จังหวัด
    • ทำ Poll สำรวจความคิดเห็นและความรับรู้ของประชาชน
  5. ขั้นสรุปและรายงานผล
    • รายงานผลความก้าวหน้าโครงการ
    • จัดประชุมสรุปผลการดำเนินงานโครงการ
    • จัดทำรายงานผลโครงการ
  6. ขั้นตอนอื่น ๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมกับโครงการ
งบประมาณ
ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นเงิน 193,310,900 บาท (หนึ่งร้อยเก้าสิบสามล้านสามแสนหนึ่งหมื่นเก้าร้อยบาทถ้วน)
  1. ค่าบริการทันตกรรม (จ่ายตามผลงาน 131,952,000 บาท
    • ตรวจสุขภาพช่องปากเด็ก บันทึกผล วางแผนปฏิบัติการ
    • เคลือบหลุมร่องฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่ง (โดยให้ลำดับความสำคัญกับฟันล่างก่อนฟันบน)
  2. ค่าเตรียมการจัดบริการในพื้นที่ 6,095,000 บาท
    • จัดประชุมประสานแผนปฏิบัติการ
    • จัดประชุมชี้แจง/อบรม/ประชุมสรุปผล
  3. ค่าสื่ออุปกรณ์ทันตสุขศึกษา 35,875,000 บาท
    • จัดทำเอกสารและสื่อทันตสุขศึกษา
    • ค่าแปรงสีฟัน-ยาสีฟันสำหรับเด็กขาดแคลน
  4. ค่าพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ 4,200,000 บาท
  5. ค่าจัดประชุมถ่ายทอดโครงการ 1,500,000 บาท
  6. ค่าประสานและติดตามโครงการทุกระดับ 2,129,000 บาท
  7. ค่าบริหารจัดการ
    • ค่าประเมินผลโครงการ 663,900 บาท
    • ค่าวัสดุ ใช้สอย ตอบแทน และครุภัณฑ์ 4,824,000 บาท
    • ค่าจ้างเจ้าหน้าที่โครงการ 6,072,000 บาท
    • เจ้าหน้าที่ในโครงการในส่วนกลาง (วุฒิปริญญาตรี 4 คน วุฒิปริญญาโท 1 คน )
    • เจ้าหน้าที่ในโครงการระดับจังหวัด (วุฒิปริญญาปวส.)
โดยมีแนวทางการจัดสรรเงิน ดังนี้
  1. ค่าบริการทันตกรรม (ค่าตรวจสุขภาพช่องปากและค่าบริการเคลือบหลุมร่องฟัน) สปสช.ตัดโอนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นรายงวด 3 งวด ตามข้อมูลที่ผ่านการ approve จากกรมอนามัย (โดยกองทันตสาธารณสุข) เพื่อดำเนินการจัดสรร ให้กับสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ตามผลงานการให้บริการ ตามแนวทางการจัดสรรเงิน ที่ทำสัญญาไว้กับรมอนามัย โดยแยกเป็น ค่าใช้จ่ายของ CUP / PCU / เอกชน ค่าตอบแทนผู้ให้บริการ และค่า key ข้อมูล ทั้งนี้ สปสช.จะตัดงบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภายใน….เดือน นับจากการยืนยันข้อมูลจากกองทันตสาธารณสุข
  2. ค่าดำเนินการในพื้นที่ ค่าติดตามงานระดับจังหวัด ค่าตอบแทนผู้ดูแลโครงการระดับจังหวัด และค่าจ้างเจ้าหน้าที่โครงการระดับจังหวัด กรมอนามัยตัดโอนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นรายงวด 3 งวด โดยมีรายละเอียดการดำเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการของแต่ละจังหวัด
  3. ค่าติดตามงานระดับเขต และค่าตอบแทนผู้ประสานงานระดับเขต กรมอนามัยตัดโอนไปยังศูนย์อนามัยเป็นรายงวด 3 งวด
  4. ค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากที่กล่าวมาดำเนินการโดยกรมอนามัย
เงื่อนไขการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการนี้ คือ
  1. โครงการจ่ายเงินงวดที่ 1 ให้แก่สถานพยาบาลภาครัฐ ประมาณร้อยละ 30 หลังจากนั้นจะพิจารณาจ่ายตามผลงาน
  2. จากผลงานการให้บริการเมื่อสิ้นงวดที่1 หากจังหวัดใดไม่สามารถให้บริการตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ โครงการจะดำเนินการเกลี่ยเป้าหมายไปให้จังหวัดอื่น
  3. งบประมาณในโครงการนี้ใช้เพื่อพัฒนาระบบบริการทันตสุขภาพสำหรับเด็ก ในกรณีที่จังหวัดสามารถบริหารจัดการให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีงบประมาณเหลือเมื่อสิ้นสุดโครงการ สามารถจัดทำโครงการพัฒนาระบบบริการทันตสุขภาพสำหรับเด็กส่งกลับมาเพื่อใช้เงินดำเนินการในปีถัดไป
  4. การปรับ เพิ่ม / ลด / ถัวจ่าย งบประมาณในโครงการ สามารถมอบอำนาจให้ผู้จัดการโครงการดำเนินการได้
ระยะเวลา
ใช้เวลาดำเนินโครงการ 14 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549
การประเมินผล
  1. ประเมินการบรรลุเป้าหมาย ในประเด็นของความครอบคลุมบริการเคลือบหลุมร่องฟันและการตรวจสุขภาพช่องปาก ร้อยละของโรงเรียนที่จัดกิจกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวันและสภาวะทันตสุขภาพของเด็ก
      ตัวชี้วัด
    • ร้อยละของเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับ Sealant
    • ร้อยละของเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 และ 3 ที่ได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากและลงบันทึก
    • สภาวะทันตสุขภาพของเด็ก (ประเมินผลกระทบหลังดำเนินโครงการ2ปี)
    • ร้อยละของรร.ที่จัดกิจกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน
  2. ประเมินความเหมาะสมของระบบบริหารจัดการ ผ่านกระบวนการจัดสรรเงินแบบ Vertical program ปัจจัยสำคัญในระบบบริหารจัดการที่ส่งผลกระทบต่อ Performance ของสถานบริการในการจัดบริการทันตสุขภาพให้แก่เด็ก และข้อเสนอแนะในการปรับระบบบริหารจัดการทุกระดับ
      ประเด็นในการประเมิน
    • ความเหมาะสมและเพียงพอของสิ่งสนับสนุนในโครงการ
    • ความเหมาะสมของกระบวนการบริหารจัดการการเงินแบบ Vertical program
    • องค์ประกอบและกระบวนการสร้างทีมงานในพื้นที่
    • ผลการดำเนินโครงการที่มีต่อการจัดบริการทันตกรรม การจัดกิจกรรมทันตสุขภาพในโรงเรียน และความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมทั้งสองส่วน
    • ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ Performance ของสถานบริการ (ศักยภาพของสถานบริการและเจ้าหน้าที่ การสนับสนุนที่ได้รับจากโรงเรียนและชุมชน)
  3. ประเมินความรับรู้ของประชาชนต่อการดูแลทันตสุขภาพของเด็ก และต่อบทบาทของ สปสช. ในการจัดบริการทันตสุขภาพให้แก่เด็ก
ผลผลิต เมื่อสิ้นสุดโครงการ
  1. เด็กกลุ่มเป้าหมายได้รับบริการเคลือบหลุมร่องฟัน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเป้าหมายที่กำหนด
  2. เด็กกลุ่มเป้าหมายได้รับบริการตรวจสุขภาพช่องปากและลงบันทึกในฐานข้อมูล ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
  3. สถานศึกษาระดับประถมศึกษาจัดกิจกรรมแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์หลังอาหารกลางวันทุกวัน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
  4. ระบบบริหารจัดการสำหรับการจัดบริการส่งเสริมป้องกันทันตสุขภาพในเด็ก โดยผ่านกระบวนการจัดสรรเงินแบบ Vertical program
รายชื่อทีมผู้ดูแลกลุ่มจังหวัด
นางสาววราภรณ์ จิระพงษา ทันตแพทย์ 8 กองทันตสาธารณสุข
นางบุญเอื้อ ยงวานิชากร ทันตแพทย์ 9 กองทันตสาธารณสุข
นางศิริเพ็ญ อรุณประพันธ์ ทันตแพทย์ 9 กองทันตสาธารณสุข
นางดาวเรือง แก้วขันตี ทันตแพทย์ 8 กองทันตสาธารณสุข
นางสุณี วงศ์คงคาเทพ ทันตแพทย์ 8 กองทันตสาธารณสุข
นางปิยะดา ประเสริฐสม ทันตแพทย์ 8 กองทันตสาธารณสุข
ลงชื่อ (นายสุธา เจียรมณีโชติชัย) ผู้เสนอโครงการ
ผู้อำนวยการกองทันตสาธารณสุข
ภาคผนวก
การวิเคราะห์ความเสี่ยงของโครงการ
  1. ฟันกรามแท้ซี่แรกมี 4 ซี่ แต่โครงการกำหนดให้บริการเคลือบหลุมร่องฟันเพียง 2 ซี่ ล่างในเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง แล้วในทางปฏิบัติจะทำอย่างไร จากข้อมูลทางระบาดวิทยาบ่งบอกว่า ฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งล่างมีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุมากที่สุด การเคลือบหลุมร่องฟันในฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งล่างจึงมีประสิทธิผลในการป้องกันฟันผุสูงที่สุด ภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด อย่างไรก็ตามหลักการแนวคิดของโครงการนี้อยู่ที่การป้องกันฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งผุหากจัดบริการเคลือบหลุมร่องฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งล่างที่จำเป็นต้องได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันแล้ว ยังมีเหลือพอให้บริการในฟันบนที่มีความจำเป็น ก็สามารถให้บริการเคลือบหลุมร่องฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งบนได้
  2. ความเป็นไปได้ของการจัดบริการ ภายใต้ภาวะขาดแคลนทันตบุคลากร จำนวนเครือข่ายบริการ(CUP)ใน 75 จังหวัด (ยกเว้นกทม.) ทั้งหมด 952 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ) ให้บริการเคลือบหลุมร่องฟันเด็ก 480,000 คน คิดเป็นจำนวนเด็กที่ต้องให้บริการเฉลี่ย 504.2 คน/CUP หากให้บริการเคลือบหลุมร่องฟันวันละ 20 คน จะใช้เวลา 25.2 วันทำการ ในกรณีที่ CUP มีทันตบุคลากร (ทันตแพทย์หรือทันตาภิบาล) 1 คน และรับผิดชอบเด็กในเกณฑ์เฉลี่ยดังกล่าว จะใช้เวลาในการให้บริการเคลือบหลุมร่องฟันประมาณ 1 เดือน จึงคาดว่า มีความเป็นไปได้ที่ CUP จะจัดบริการตามโครงการได้ ทั้งนี้ CUP สามารถเลือกที่จะจัดบริการแบบรณรงค์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือให้บริการอย่างต่อเนื่องตลอดปีการศึกษาก็ได้ตามแต่ที่เห็นสมควร หาก CUP ใดไม่พร้อมที่จะให้บริการสามารถปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการได้ ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบในการแสวงหากลวิธีที่จะจัดบริการเคลือบหลุมร่องฟันให้แก่เด็กในพื้นที่นั้นต่อไป
  3. การสร้างแรงจูงใจสำหรับสถานบริการสาธารณสุขของรัอยละผู้ให้บริการ เพื่อเป็นหลักประกันความสำเร็จของโครงการ จำเป็นต้องมีการสร้างแรงจูงใจสำหรับสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยชี้แจงเหตุผลความสำคัญของโครงการนี้และให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน พร้อมทั้งจัดสรรเงินค่าตอบแทนผู้ให้บริการในสัดส่วนที่เหมาะสม
  4. บทบาทของสถานพยาบาลเอกชนในการเข้าร่วมโครงการ อัตราค่าบริการเคลือบหลุมร่องฟัน เป็นผลจากการศึกษาในสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐ อาจจะแตกต่างจากอัตราค่าบริการของสถานบริการสาธารณสุขภาคเอกชน แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่จัดบริการครอบคลุมทุกจังหวัด (ยกเว้นกทม.) มีเด็กที่จำเป็นต้องได้รับบริการเคลือบหลุมร่องฟันจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองหรือเขตที่มีชุมชนหนาแน่น จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่จะต้องแจ้งให้สถานพยาบาลเอกชนทราบโครงการและสอบถามความประสงค์ในการเข้าร่วมให้บริการเคลือบหลุมร่องฟัน หากเป็นคลินิกเอกชนสามารถเป็น sub-contractor ของโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลรับผิดชอบจ่ายเงินค่าบริการในส่วนต่างนั้น เพื่อให้เด็กในความรับผิดชอบของตนได้รับบริการส่งเสริมป้องกันตามความจำเป็น ทั้งนี้ จะต้องเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากกองการประกอบโรคศิลปะ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการระดับจังหวัด/ผู้รับผิดชอบโครงการในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
  5. ผลกระทบที่มีต่อการจัดบริการตรวจสุขภาพช่องปากหรือจัดบริการเคลือบหลุมร่องฟันในภายภาคหน้า อันที่จริง การตรวจสุขภาพช่องปากและการจัดบริการเคลือบหลุมร่องฟัน ได้รับการกำหนดให้เป็นบริการในชุดสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่มีผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจน อาจเป็นเพราะไม่มีระบบสนับสนุน ระบบบริหารจัดการ และระบบติดตามประเมินผลที่ชัดเจน การจัดทำโครงการนี้มุ่งหวังว่าจะเป็นจุดตั้งต้นของการพัฒนาระบบดังกล่าวเพื่อให้เด็กได้รับบริการส่งเสริมป้องกันทันตสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง (ประมาณ 3 ปี) ระบบต่าง ๆ จะมีความชัดเจนและยืดหยุ่นสามารถปรับตัวไปตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ได้รับการสนับสนุนเพียงปีเดียวก็ยังกล่าวได้ว่า โครงการนี้เป็นจุดตั้งต้นของการพัฒนาระบบบริการส่งเสริมและป้องกันโรคด้านทันตกรรมสำหรับเด็ก ส่วนการพัฒนาต่อเนื่องก็จำต้องให้เป็นไปตามระบบและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ต่อไป ซึ่งจะต้องชี้แจงให้ผู้รับผิดชอบและผู้ปฏิบัติงานทุกระดับเข้าใจและมองเห็นโอกาสในการพัฒนาระบบให้เข้มแข็งและยั่งยืนอันเป็นผลสืบเนื่องจากการทำโครงการนี้
  6. การเบิกจ่ายซ้ำซ้อนในกรณีสิทธิประโยชน์ข้าราชการ การบริการตรวจสุขภาพช่องปากและการบริการเคลือบหลุมร่องฟันไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ จึงไม่สามารถเบิกจ่ายซ้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น